บทความเรื่อง
ครูที่ดีคือครูแบบไหน อย่างไรจึงจะเรียกว่าครูในฝัน
ครูจิตประภา พึ่งขุนทด โรงเรียนคลองทรงกระเทียม กทม.
ครูที่ดีคือครูแบบไหน อย่างไรจึงจะเรียกว่าครูในฝัน
ครูจิตประภา พึ่งขุนทด โรงเรียนคลองทรงกระเทียม กทม.
ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยเราทุกคนคงต้องยอมรับว่าโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเหล่าบรรดานักเรียนทั้งหลายซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายใต้หลังคาบ้านหลังนี้สถานที่ที่ซึ่งคอยสร้างเสริมประสบการณ์ต่างๆให้แก่ผู้เรียน ชีวิตของคนเรานั้นเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กจะได้รับความรู้เบื้องต้นในการดำรงชีวิต จากพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อเติบใหญ่ถึงวัยเรียนก็จะต้องเข้าโรงเรียนเพื่อเข้ารับการศึกษา บรรยากาศความอบอุ่นในการดำรงชีวิตจากครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ต้องห่างจากครอบครัวในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อเข้ารับการเรียนรู้จากครูในโรงเรียน และแน่นอนผู้ที่มีบทบาทและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกเหล่านี้ก็คือ “ ครู ”
“ ครู ” ยังคงเป็นบุคคลสำคัญอันดับแรกที่จะช่วยสร้างคน สร้างชาติ ยิ่งสังคมยุคใหม่พ่อแม่ต้องดิ้นรนทำมาหากิน ส่งผลให้มีเวลาดูแลลูกๆ น้อยลง ครูจึงต้องทำงานหนักขึ้นอีกหลายเท่า นอกจากจะสอนหนังสือแล้ว ครูยังต้องเป็นพ่อแม่คนที่ 2 คอยอบรมสั่งสอนประคับประคองให้เด็กเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า ต้องยอมรับว่าครูในอดีต มีความรู้ทางจิตวิทยาการเรียนการสอนน้อย ผู้เรียนได้รับการเรียนรู้จากครูที่มีความรู้มีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม มีเทคนิควิธีการสอนที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็เป็นโชคดีของผู้เรียน หากพบกับข้าราชการครูที่มีคุณสมบัติต่างไปจากนี้ จะสร้างความลำบากใจให้กับผู้เรียน มีอุปสรรคปัญหาในการรับการเรียนรู้ เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ทำให้ผู้เขียนได้มองเห็นถึงความแตกต่างในเรื่องภาพพจน์ของครูในอดีตและปัจจุบันซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม เห็นได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งมีให้เห็นกันบ่อยครั้งถึงความเปลี่ยนแปลงในการวางตัวและการปฏิบัติตนของครูที่มีต่อศิษย์ จากข่าวที่เกิดขึ้นซึ่งมักจะออกมาในแง่ลบ ทำให้ภาพพจน์ของครูที่เคยเป็นผู้ให้โดยมิหวังผลกลายมาเป็นผู้ที่คอยหาแสวงประโยชน์จากศิษย์โดยมิชอบ ถึงแม้ว่าครูที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นเพียงส่วนน้อยแต่สิ่งนี้ก็สามารถสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันครูได้ไม่น้อยและทำให้ผู้คนเสื่อมความนับถือในตัวครูไปด้วย แต่ที่ได้กล่าวมาก็มิได้หมายความว่าครูที่ดีจะหมดไปหรือถูกกลืนไปตามกระแสสังคมในปัจจุบันแต่ในทางกลับกันครูก็พยายามที่สร้างคุณงามความดีและประโชน์ต่อสังคมโดยการจะเห็นได้จากเมื่อ "วันครู" วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้จัดงานเชิดชูคุณครูที่หอประชุมคุรุสภา ซึ่งในงานวันดังกล่าว นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบรางวัลแก่ครู 175 คน ที่ได้รับคัดเลือกในโครงการ "ครูดีในดวงใจ" จากการจัดงานดังกล่าวจึงทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามขึ้นในใจและต้องการหาคำตอบว่าครูแบบไหนถึงจะเรียกได้ว่าที่เป็นครูที่ดีและตรงกับความต้องการเป็นครูในฝันของผู้เรียน เริ่มจากตัวผู้เขียนเองหากจะถามว่าครูที่ดีในความคิดของข้าพเจ้าเป็นอย่างไร ก็คงต้องตอบว่าครูที่ดีคือ ครูที่มอบความรู้ให้กับศิษย์โดยไม่ปิดบัง สอนโดยไม่หวังผลตอบแทน ให้ความรักและความเอาใจใส่ มีความปรารถณาดีต่อศิษย์ และต้องเป็นที่ปรึกษาที่ดีของศิษย์ในทุกเรื่อง ดังเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างของครูที่ดี ทรงมีพระเมตตา ทรงเป็นผู้สั่งสอนประสิทประสาทรวิชา วิทยาการต่างๆให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างเต็มพระปรีชาสามารถโดยมิเคยหวังสิ่งใดตอบแทนเพียงแต่ทรงมีพระราชประสงค์อยากเห็นปวงชนชาวไทยอยู่ดีมีสุข พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มนำทฤษฎีการใช้ชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และทรงสั่งสอนให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามแนวทฤษฎีดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเปรียบเสมือนครูของปวงชนชาวไทย ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั่นคือคำจำกัดความของครูที่ดีในความคิดของข้าพเจ้า และสำหรับคำถามต่อมาก็คือ ครูแบบไหนจึงจะเรียกว่าครูในฝัน อันดับแรกของครูในฝันที่ข้าพเจ้าต้องการคือ ครูที่ความเมตตา โอบอ้อมอารีต่อศิษย์ ไม่หวังและแสวงหาประโยชน์จากศิษย์โดยมิชอบ ครูจะต้องเป็นผู้ให้ ให้ความรู้โดยไม่มีปิดบัง ทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจในการถ่ายทอดวิทยาการต่างๆให้กับศิษย์อย่างเต็มที่ มีความยุติธรรมและมีความเป็นกลาง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เข้าใจในความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน ไม่ยึดถือเอาอารมณ์และความต้องการของตนเองเป็นใหญ่ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้ความรักแก่ศิษย์ด้วยใจที่บริสุทธิ์ นอกจากความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองเกี่ยวกับเรื่อง ครูที่ผู้เรียนต้องการคือครูแบบไหน อย่างไรจึงจะเรียกว่าครูในฝันแล้ว ข้าพเจ้ายังมีตัวอย่างของนานาทรรศนะว่าด้วยคุณสมบัติของครูที่ผู้เรียนต้องการหรือครูในฝัน ซึ่งมีแหล่งที่มาจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับที่ 9445 [หน้าที่ 4 ] ประจำวันที่ 18 มกราคม 2547 ดังนี้
น.ส.สุคนธ์ทิพย์ สุกสี นักเรียนโรงเรียนไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า
"ครูที่ดี คือครูที่มอบความรู้ ไม่ปิดบังความรู้ สอนโดยไม่หวังอามิสสินจ้าง หวังดีกับศิษย์ และต้องเป็นที่ปรึกษาที่ดีของศิษย์ เป็นทั้งพี่เลี้ยงและพ่อแม่ ซึ่งครูในดวงใจของหนูคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งหนึ่งขณะตามเสด็จฯพระองค์ ทรงมีพระกระแสรับสั่งกับเหล่านักเรียนที่ท่านทรงสอนว่า เรียนอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ตั้งใจเรียนจริง ซึ่งดิฉันก็น้อมนำกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวมาปฏิบัติทุกวันนี้"
นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ บรรณาธิการอำนวยการบริหาร หนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า
"ครูดีในความคิดผม คือครูที่ต้องสร้างอย่างน้อย 4 อย่าง ได้แก่ สร้างศิษย์ คือสร้างให้ศิษย์เป็นคนดี มีสติปัญญา, สร้างตัว คือสร้างตัวเองและครอบครัวให้ดี, สร้างสังคม และสร้างงาน ครูคือผู้สร้างนั้นผมไม่เป็นห่วง แต่เป็นห่วงครูคือผู้ถูกสร้างมากกว่า เพราะทุกวันนี้สังคมคาดหวังกับครูมาก หวังครูในฝัน ครูในดวงใจ ซึ่งก็ไม่ผิด การคาดหวังทำให้ครูเดินไปในกรอบที่ถูกต้อง แต่ผมเห็นใจครู ทุกวันนี้ถูกสร้างและถูกเรียกร้องมาก ทำอย่างไรจะช่วยแบ่งภาระให้ครู เพื่อทำงานอย่างมีความสุขขึ้น"
นางพิมพา สุขวิบูลย์ ครูดีเด่นประจำปี 2546 กล่าวว่า
"สิ่งที่ครูควรสร้างคือ กำลังใจ เพราะครูเปรียบเหมือนพ่อแม่คนที่ 2 ดังนั้น ควรเป็นกันเองและให้กำลังใจศิษย์ ซึ่งจะทำให้เด็กกล้าคิด กล้าถาม และกล้าแสดงออก การทำให้เด็กไว้วางใจจะทำให้เด็กกล้าเล่าปัญหาด้วย นอกจากนี้ ครูที่ดีควรจะสร้างแหล่งการเรียนที่หลากหลายด้วย"
นายจักรินทร์ มีประเสริฐกุล ครูดีเด่นประจำปี 2546 กล่าวว่า
"การศึกษามักเน้นเนื้อหาความรู้ แต่ละเลยในเรื่องจิตใจเด็ก ทำให้เวลาเด็กเจอปัญหาจึงขาดทักษะในการแก้ไข ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ครูที่ดีในมุมมองผมจึงควรจะสร้างทักษะและแนะแนววิถีทางในการดำเนินชีวิตแก่เด็กด้วย"
คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า
"ครูผู้สร้างในความคิดดิฉันคือ วิศวกรพัฒนาคน ด้วยบทบาทหน้าที่สร้างคนซึ่งจะสร้างให้เป็นคนดีหรือโจรก็ได้ ฉะนั้น อาชีพนี้จึงไม่ใช่ใครก็ได้จะมาเป็นครูได้ หรือเอาคนที่หาอาชีพอื่นไม่ได้แล้วมาเป็นครู แต่ต้องเป็นคนที่มีใจรักในความเป็นครูอย่างแท้จริง ซึ่งเครื่องมือที่จะสร้างคนให้เป็นคนดีนั้น ดิฉันมองว่ามี 2 ปัจจัยหลัก คือศรัทธาและปัญญา คือครูต้องมีศรัทธาในอาชีพครู และสร้างศรัทธาในเด็กได้ด้วย และปัญญานั้นครูต้องลับสมองให้คมเสมอ ด้วยการพยายามเรียนรู้และติดตามให้ตัวเองทันสมัยและก้าวหน้า ตลอดจนทำให้ศิษย์ขี้สงสัยให้ได้ เพราะความสงสัยจะทำให้เด็กใฝ่รู้" จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติของครูที่ดี และเป็นครูในฝันสำหรับผู้เรียนก็คือ ครูที่พร้อมที่จะเป็นผู้สร้างและเป็นผู้ให้ในเวลาเดียวกัน จากทรรศนะที่ได้นำมากล่าวทั้งหมดในข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า นี่คือตัวอย่างอันดีงามส่วนหนึ่งของครูที่ดีและเป็นครูในฝันที่ศิษย์ต้องการ ครูในฝันต้องมีการพัฒนาความรู้สติปัญญาตลอดเวลา มีเมตตามีคุณธรรม จริยธรรม ที่ดีงามเป็นแม่พิมพ์ที่เลิศล้ำด้วยคุณค่าครูทุกคนต้องช่วยกันร่วมสร้างสรรค์ให้ฝันของศิษย์เป็นจริง ดังนั้นผู้ที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะเป็นครูก็ควรที่จะนำทรรศนะที่ได้รับจากบทความเรื่องนี้ไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อพัฒนาตนให้เป็นครูที่ดีต่อไปในอนาคตและข้าพเจ้าก็เชื่อว่าสถาบันครูจะต้องเป็นสถาบันน่านับถือและน่าเลื่อมใสหากผู้ที่จะเป็นครูสามารถปฏิบัติตนได้ดังที่กล่าวมาข้างต้นและในอนาคตประเทศของเราจะต้องเต็มไปด้วยครูที่ดีและเป็นครูในฝันของผู้เรียนได้อย่างแน่นอน
ครูจิตประภา พึ่งขุนทด โรงเรียนคลองทรงกระเทียม กทม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น